• หอมขจรฟาร์ม

  • Back
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งและมีชื่อเสียงในด้านอัตลักษณ์อาหารมาอย่างยาวนาน และตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยเพื่อสุขภาพและอนามัยที่ดีแก่ผู้บริโภคในสังคมไทยมาโดยตลอด จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การปลูก การแปรรูป ไปจนกระทั่งการตลาด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนตามแนวทาง BCG โดยมีจุดเริ่มต้น ณ พื้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ 2561 ภายใต้โครงการชื่อว่า “โครงการเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ” มีเป้าหมายเพื่อ “ยกระดับรายได้และสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร” โดยใช้กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตภายใต้ แบรนด์ที่ชื่อว่า HOMKHAJORN “หอมขจร”
ภาพที่ 1 สถานที่ดำเนินงานโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม)
การดำเนินงานของโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม) แบ่งออก 5 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร มิติที่ 2 การแปรรูปผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มิติที่ 3 การสร้างช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย มิติที่ 4 การถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต และ มิติที่ 5 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตรตามเอกลักษณ์พื้นถิ่น
ภาพที่ 2 มิติการดำเนินงานโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม)
          โครงการระยะที่ 1 ดำเนินการปรับพื้นที่ขนาดประมาณ 7 ไร่ ยกคันดินขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 1 เมตร รอบพื้นที่ สำรวจพื้นที่ เก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพดิน ปลูกปอเทืองพื้นที่ 4.5 ไร่ เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ไถกลบปอเทือง และปลูกถั่วเขียวเพื่อบำรุงดิน ซึ่งสิ้นสุดโครงการระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2561 จากการดำเนินการในระยะที่ 1 ทำให้คุณภาพดินดีขึ้นเพื่อเตรียมการในการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ต่อไป
          โครงการระยะที่ 2 ในช่วงปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) ได้ดำเนินการจัดการน้ำ การจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูก พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์ รวมถึงการปรับปรุงถนนทางเข้า-ออกให้สามารถใช้สัญจรได้สะดวก ตลอดการติดตั้งระบบน้ำอัตโนมัติทั่วพื้นที่ในโครงการ การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่  ไม้พื้นเมืองหายาก กว่า 20 ชนิด และพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดหวาน มะพร้าว ว่านหางจระเข้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา ขิง และข่า เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาของสังคมและชุมชน นอกจากนี้โครงการระยะที่ 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ยังได้รับความร่วมมือจาก 8 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพสธ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และกรมราชทัณฑ์ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรและสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตรคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความมั่นคงทางรายได้และค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ตามแนวทางเกษตรปลอดภัยในเขตพื้นที่ภาคกลาง
          โครงการระยะที่ 3 การดำเนินงานในช่วงปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) มีการดำเนินการถมดินปรับพื้นที่เพิ่มเติมขนาดพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อรองรับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในอนาคต เช่น โรงคัดแยกผลผลิตทางการเกษตร โรงปุ๋ยหมักชีวภาพ โรงเรือนสำหรับปลูกมะเขือเทศ และเมล่อน เป็นต้น และในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding; MOU) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาสาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพสินค้าทางการเกษตร ตลอดการร่วมมือพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ สาธิต และเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร ทำให้โครงการได้รับการสนับสนุน “โรงเรือนอัจฉริยะ.” จาก สวทช. ซึ่งมีเทคโนโลยีที่สามารถปรับสภาพแวดล้อมตามที่พืชต้องการ ได้แก่ เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดิน อากาศ อุณหภูมิ และความเข้มแสง ทำให้ลดความเสี่ยง เพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูกพืช โดยควบคุมการทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563
          ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำประปา ระบบไฟฟ้า และระบบอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงการปรับพื้นที่ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ภาพที่ 3 ภาพผังรวมโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม)
การดำเนินงานของโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม) แบ่งออก 5 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร มิติที่ 2 การแปรรูปผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มิติที่ 3 การสร้างช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย มิติที่ 4 การถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต และ มิติที่ 5 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตรตามเอกลักษณ์พื้นถิ่น
ภาพที่ 4 ผังรวมกิจกรรมย่อยในโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม)
ภาพที่ 5 ผังรวมโรงเรือนอัจฉริยะในโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ (หอมขจรฟาร์ม)